แนวทางเตรียมตัวเรียนต่อป.โท(ในไทย)


หลายคนเมื่อจบปริญญาตรี หรือหลังจากจบมาระยะหนึ่งแล้วอาจจะรู้สึกอยากเรียนต่อ ซึ่งบางคนก็รู้ความต้องการของตนเองในทันทีว่าต้องการอะไร แต่บางคนอาจจะมีความไม่มั่นใจว่าควรจะเลือกเรียนด้านไหน สาขาไหน และที่ไหนดี หากเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เราต้องหาคำตอบให้กับตัวเอง นั่นคือ 

 

 


1. จุดประสงค์ที่ต้องการเรียนต่อของเราคืออะไร เช่น  

- ต้องการเรียนเพื่อต่อยอดความรู้ในระดับปริญญาตรี
- ต้องการเรียนเพื่อต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์ในอาชีพหรืองานที่ทำอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต  
- ต้องการเรียนเพื่อสนองความรักความชอบส่วนตัวของตัวเองเป็นหลัก 

ตัวอิฉันเองก็เริ่มเรียนจากความรักความชอบส่วนตัว อยากศึกษาให้ลงลึกในสาขาที่ตัวเองชอบและ (คิดว่า) ตัวเองถนัด ไม่ได้คาดหวังว่าจะยึดเป็นอาชีพ แม้ว่าเมื่อมาเรียนแล้วจะรู้สึก เกลียด ก็ตาม ฮ่าาาา เดี๋ยวจะขอเขียนถึงเรื่องนี้ในบทความต่อไปอันไกลๆ โพ้น ถ้ามีโอกาส
  

2. หาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรและสถาบันการศึกษาที่เปิดสอน

- สาขาไหนบ้างที่ตรงกับความต้องการและจุดประสงค์ในการเรียนของเราที่สุด และมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่เปิดสอน
- ความมุ่งเน้นของหลักสูตรนั้นๆ ตรงกับความต้องการของเราไหม วิชาที่เปิดสอนในหลักสูตรมีอะไรบ้าง 
- วันและเวลาในการเรียนการสอนก็เป็นส่วนสำคัญ เช่น 
    บางหลักสูตรอาจจะเปิดการเรียนการสอนในวันธรรมดา จันทร์ถึงศุกร์ หรือเปิดสอนในช่วงเย็น 
    บางหลักสูตรเปิดการเรียนการสอนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ 
    หรือบางหลักสูตรอาจจะมีการเรียนการสอนทั้งวันธรรมดาและวันเสาร์-อาทิตย์ 
    เป็นต้น

    เราสามารถเข้าเรียนตามวันและเวลาที่หลักสูตรนั้นๆ กำหนดได้หรือไม่ ต้องพิจารณาในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน เพราะหากมีปัญหาติดขัดในภายหลังก็จะส่งผลต่อการเรียนของเราได้ไม่น้อย


3. หาข้อมูลเปรียบเทียบสาขาวิชาเดียวกันในแต่ละมหาวิทยาลัย 


ถึงแม้จะเป็นสาขาวิชาเดียวกัน แต่ในแต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยหรือความมุ่งเน้นในหลักสูตรของแต่ละสาชาวิชาที่แตกต่างกันก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาให้ดี รวมถึงต้องเปรียบเทียบเรื่องของวันและเวลาในการเปิดการเรียนการสอนด้วย ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้อที่2. 

โดยรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับหลักสูตรสามารถหาดูได้ตามที่แต่ละสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ลงประกาศไว้ หรือบางสาขาวิชาอาจจะมีการเปิด Open house ให้เข้าฟังก่อนเปิดรับสมัคร ก็สามารถหาข้อมูลเพื่อเข้าฟังได้เพื่อเป็นการประกอบการตัดสินใจ 


4. ตรวจสอบคุณสมบัติของตนเองก่อนสมัคร


สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างหนึ่งก่อนการสมัครเข้าเรียนที่ใดก็ตาม จะต้องทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครก่อนเสมอ ว่าตรงกับคุณสมบัติที่ทางสาขาวิชาหรือทางมหาวิทยาลัยนั้นๆ กำหนดไว้หรือไม่ มิฉะนั้น หากถูกตัดสิทธิ์ภายหลังก็จะเป็นการเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียความรู้สึก เป็นต้น 


5. เตรียมตัวในการสมัคร/สอบ/สัมภาษณ์

เมื่อตัดสินใจเลือกสาขาและสถาบันการศึกษาได้แล้ว สิ่งที่เราต้องหาข้อมูลต่อไป คือ 
- วันและเวลาในการเปิดรับสมัคร  
- วันและเวลาในการสอบ  บางสาขาหรือบางมหาวิทยาลัยอาจจะมีทั้งการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์ แต่บางสาขาอาจจะมีเพียงการสอบสัมภาษณ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งบางสาขาวิชาอาจจะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการสอบข้อเขียนเน้นเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งก็เป็นผลดีต่อทางผู้สมัครในการเตรียมตัวล่วงหน้า 

- วันและเวลาในการสอบสัมภาษณ์ การสอบสัมภาษณ์จำเป็นต้องเตรียมตัวให้ดีเช่นเดียวกัน เพราะอาจจะมีผู้สมัครบางท่านที่ผ่านขั้นตอนการสอบข้อเขียน แต่ตกในส่วนของการสอบสัมภาษณ์ เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่ประมาท ต้องทำการบ้านให้ดี อย่างน้อยเราต้องสามารถตอบตัวเองได้ว่า เรามาเรียนเพื่ออะไร หลักสูตรที่เราสมัครมุ่งเน้นอะไร และตอบโจทย์ของเรายังไง เป็นต้น 

- ผลคะแนนสอบวัดความรู้ทางภาษา ในบางมหาวิทยาลัยกำหนดว่าต้องมผลคะแนนสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ เช่น CU-TEP ของจุฬาฯ หรือ TU-GET ของ ธรรมศาสตร์ หรือบางสาขาอาจจะระบุไว้เลยว่าต้องการผลคะแนนของ TOEIC TOEFL หรือ IELTS ผู้สมัครต้องเตรียมพร้อมในการสอบเพื่อยื่นผลการสอบให้ทันตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด และผลคะแนนต้องเป็นไปตามที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดเช่นกัน
 

6. เตรียมกำลังทรัพย์ให้พร้อม

เมื่อผ่านกระบวนการต่างๆ จนมีชื่อเป็นว่าที่นักศึกษาใหม่แล้วล่ะก็ สิ่งที่ต้องเตรียมก็คงจะมีแต่ ค่าลงทะเบียน ค่าหน่วยกิจ ค่าบำรุงการศึกษา นั่นเอง เท่านี้ก็เตรียมตัวเป็นนักศึกษาปริญญาโทได้เล้ย
 
อ้อ ยังมีอีกข้อนึง สิ่งสำคัญสิ่งสุดท้ายที่ต้องเตรียม นั่นคือ "เตรียมใจ" ค่ะ   


เตรียมใจว่าหนทางข้างหน้ามันอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ถ้าการสอบเข้ามา หรือกว่าจะได้เข้ามาเรียนนั้นถือว่ายาก การเรียนและการจบออกไปให้ได้นั้น ยากกว่าค่ะ ไม่ได้พูดให้กลัวนะคะ แต่พูดเพื่อให้เตรียมตั้งรับค่ะ


แต่!! ถึงมันจะเหนื่อย มันจะยาก แต่ว่ามันคุ้มค่า เพราะเมื่อเราทำสำเร็จ เราจะได้ภูมิใจกับมัน เราจะได้รู้สึก "ภูมิใจในตัวเอง"



ขอให้ทุกคนโชคดีค่ะ
สู้ๆ ^^


ตต.


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม